เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสแรกปี 2552 รุนแรงกว่าที่หดตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 การหดตัวที่รุงแรงกว่าที่คาดเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยรุนแรงมากขึ้น และทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหดตัวลงมาก และมีผลกระทบต่อเนื่องที่ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคะอกชนลดลงและสาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ ของไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
ภาคธุรกิจเอกชนลดการลงทุนลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมซึ่งความต้องการสินค้าและการผลิตเพื่อการส่งออกลดลงมาก จึงได้ส่งผลให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้นมากและมีการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมสำคัญ และอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้กับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าลดลงร้อยละ 1.9 จากที่ลดลงถึงร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงต่ำสุดซึ่งจะเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพก่อนที่จะกลับมาขยจายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปีโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสที่มีโอกาสจะเป็นบวกในครึ่งหลัง
ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลัง ประกอบด้วย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่มุ่งเน้นการขยายการลงทุนภาครัฐในระยะปานกลางรวมทั้งการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตภายหลังจากที่ได้ใช้สินค้าคงคลังไปมากแล้ว ทั้งนี้โดยมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ ราคาสินค้าที่ลดลงและ อัตราดอกเบี้ยต่ำ
คาดว่าทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวประมาณร้อยละ (-3.5)-(-2.5) โดยที่เฉลี่ยในครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจหดตัวมากแต่จะฟื้นตัวดีขึ้นและมีโอกาสกลับมาขยายตัวในครึ่งหลัง ทั้งนี้การขยายตัวเป็นบวกในครึ่งหลังนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ การดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการฟื้นตัวที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก โดยที่ประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจนั้นจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของประชาชนและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสำคัญ
คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2552 จะอยู่ในระดับร้อยละ (-0.5) – (0.5) เป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ลดลง ในขณะที่ความต้องการสินค้าและบริการชะลอตัวลงมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลสูงถึง 9.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 3.7 ของ GDP จากการเกินดุลการค้าในระดับสูงและการปรับตัวดีขึ้นของดุลบริการที่เกิดจากรายได้จากการท่องเที่ยว
การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจะต้องมุ่งเน้นในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างต่อเนื่องและเร่งรัดเตรียมความพร้อมให้โครงการภาครัฐสามารถที่จะดำเนินการได้อย่างจริงจังและให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินโครงการภาครัฐ
ที่มา: สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesdb.go.th
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น