20 มีนาคม 2552

หุ้นสหรัฐปิดลบ

หุ้นสหรัฐปิดลบ นักลงทุนหวั่นเฟดทุ่มเงินกระตุ้น ศก.ฉุดดอลลาร์อ่อนค่า


นิวยอร์ก 20 มี.ค.-ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลง หลังนักลงทุนไม่สบายใจ
กรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เตรียมทุ่มเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปิดการซื้อขายตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนีปรับลดลงหลังข้อมูลระบุว่า
จำนวนผู้ว่างงานที่มายื่นเรื่องรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจนแตะ 5.47 ล้านคนแล้วในปีนี้

ขณะที่นักลงทุนไม่สบายใจต่อกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เตรียมทุ่มเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการซื้อหนี้เสียของรัฐบาลและพันธบัตรรัฐบาล
เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น



ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.95 พันล้านหุ้น
มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 5 ต่อ 4
ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.35 พันล้านหุ้น

ท้อดด์ ซาลาโมน นักวิเคราะห์จาก Schaeffer`s Investment Research กล่าวว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมาตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้นขานรับเฟดที่ประกาศใช้มาตการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่ครอบคลุมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และเพิ่มการรับซื้อตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) อีก 7.50 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ เฟดจะเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดย หรือ รับประกันโดยสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เพื่อการซื้อบ้าน
รายใหญ่ 2 แห่ง คือ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ในปีนี้ด้วย

"แต่นักลงทุนเริ่มมองว่ามาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรของเฟดทำให้สกุลเงินดอลลาร์ดิ่งลงอย่างหนัก และมีแนวโน้มที่ร่วงลงหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันและพืชผล มีราคาสูงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าที่ต้องใช้อุปโภคบริโภคในแต่ละวันแพงขึ้นไปด้วย อาทิ อาหารและเชื้อเพลิง
จนในที่สุดสหรัฐจะกลับสู่วงจรเงินเฟ้อคุกคาม นักลงทุนเริ่มมีมุมมองในด้านลบว่ามาตรการของเฟดอาจต้องใช้เวลานานจึงจะเห็นผล จึงพากันเทขายหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มธนาคาร" ซาลาโมนกล่าว

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่ผ่านมา และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน 0.2% ซึ่งเท่ากับเดือนม.ค.

โจ บาเลสตริโน นักวิเคราะห์จาก Federated Investors Inc. มองว่า มาตรการของเฟดยังไม่แข็งแกร่งพอ
ที่จะพยุงตลาดหุ้นนิวยอร์กให้ทะยานขึ้นอย่างเต็มสูบได้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มองภาพเศรษฐกิจโดยรวมเป็นหลัก ขณะที่แอนดรูว์ ทิลตัน นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า ในการยับยั้งเศรษฐกิจจากภาวะถดถอยนั้น เฟดจะต้องใช้ความพยายามมากเป็น 2 เท่า และขณะนี้ดุลบัญชีของเฟดทรุดตัวลง 17%
จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนธ.ค.ที่ระดับ 2.31 ล้านล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มพลังงงานทะยานขึ้นแข็งแกร่งหลังจากราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX พุ่งขึ้นเหนือระดับ ซึ่งเป็นผลมาจากสกุลเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงอย่างหนักหลังจากเฟดประกาศเข้าซื้อพันธบัตร โดยหุ้นเชฟรอนพุ่งขึ้น 0.8% หุ้นอ็อคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ดีดขึ้น 3.8%

แต่หุ้นกลุ่มการเงินดิ่งลง โดยหุ้นซิตี้กรุ๊ปปิดร่วง 15.6% หุ้นเจพีมอร์แกนปิดลบ 8%
ส่วนหุ้นเจนเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ปิดลบ 10 เซนต์ แตะที่ 10.13 ดอลลาร์
หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาสแรกและตลอดปี 2552

หุ้นเฟดเอ็กซ์ปิดพุ่ง 4.8% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรไตรมาส 3 พุ่งขึ้น 75%
อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนลดการจ้างงานและลดค่าแรงพนักงาน

ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดไนเม็กซ์ พุ่งขึ้น 3.47 ดอลลาร์สหรัฐ ไปปิดที่ระดับ 51.61 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล สูงสุดในรอบปีนี้

ทำให้หลังปิดตลาด ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 7,400.80 จุด ลดลง 85.78 จุด หรือ 1.15%
ดัชนีแนสแดคปิดที่ 1,483.48 จุด ลดลง 7.74 จุด หรือ 0.52%
และดัชนีเอสแอนด์พี ปิดที่ 784.04 จุด ลดลง 10.31 จุด หรือ 1.30%

ขณะที่ตลาดหุ้นสำคัญของยุโรป
ดัชนี FTSE 100 ตลาดลอนดอน ปิดที่ 3,816.93 จุด ปรับขึ้น 11.94 จุด หรือ 0.31%
ดัชนี DAX ตลาดแฟรงก์เฟิร์ต ปิดที่ 4,043.46 จุด ปรับขึ้น 47.14 จุด หรือ 1.18%
และดัชนี CAC 40 ตลาดปารีส ปิดที่ 2,776.99 จุด ปรับขึ้น 16.65 จุด หรือ 0.60%

ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ ตลาดลอนดอน ปิดที่ 50.67 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ปรับขึ้น 3.01 ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านราคาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดที่ 958.30 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ปรับขึ้น 69.60 ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตลาดลอนดอน ปิดที่ 958.95 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ปรับขึ้น 66.55 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : สำนักข่าวไทย
สำนักข่าวอินโฟเควสท์

0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4